ภาพ-ข่าว : จันทร์เพ็ญ พิมมะศร สระบุรี
วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี สร้างนวัตกรรมจัดการขยะพลาสติก นำมารีไซเคิลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กับยานพาหนะและเครื่องจักรภายในวัด ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันลงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน นับเป็นอีกแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์วัดถ้ำกระบอกเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดที่รองรับผู้เข้าบำบัดจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่ใช้กับรถขนส่งและเครื่องจักร พระอาจารย์บุญส่ง ฐานะจาโร วัย 79 ปี ประธานมูลนิธิวัดถ้ำกระบอก ตระหนักว่าหากไม่มีแนวทางลดต้นทุน วัดจะต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้น จึงเริ่มศึกษาวิธีเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงด้วยกระบวนการ ไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการเผาพลาสติกในระบบปิดเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำมัน
โครงการนี้เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2567 ด้วยเงินลงทุน 30,000 บาท สำหรับอุปกรณ์ทดลองชุดแรก เมื่อนำน้ำมันที่ผลิตได้ไปใช้จริง พบว่าไม่ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ วัดจึงขยายโครงการโดยสร้างเตากลั่นขนาดใหญ่ รองรับขยะพลาสติกได้ครั้งละ 550 กิโลกรัม จนปัจจุบันสามารถผลิตน้ำมันได้แล้วกว่า 10,000 ลิตร และมีน้ำมันสำรองอีก 5,000 ลิตร
กระบวนการผลิตของวัดใช้ขยะพลาสติกประเภท PE และ PP ซึ่งเป็นพลาสติกที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้ดีที่สุด โดยขยะพลาสติกที่สะอาดจะถูกเผาที่อุณหภูมิ 350-500 องศาเซลเซียส ในระบบปิด ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนที่ไอน้ำมันที่เกิดขึ้นจะถูกควบแน่นและแยกออกมาเป็น น้ำมันดีเซล สำหรับเครื่องจักร และ น้ำมันเบนซิน สำหรับเครื่องยนต์เบนซินทั่วไป
การลงทุนของวัดในโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท แต่ผลลัพธ์กลับคุ้มค่าอย่างมหาศาล ทั้งการลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณขยะ และสร้างพลังงานใช้เอง เงินที่เคยต้องจ่ายค่าน้ำมันถูกนำมาใช้ทำบุญและช่วยเหลือผู้ป่วยติดยาเสพติดแทน
พระอาจารย์บุญส่ง ฐานะจาโร เล่าว่า แรกเริ่มเดิมที ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาสำหรับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทางวัดเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสูงถึง 50,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดที่จะลดต้นทุนภายในวัดโดยไม่ต้องพึ่งพาการรับบริจาคจากชาวบ้าน เราไม่ได้คิดจะทำธุรกิจหรือแสวงหาผลกำไร เพียงแค่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของวัด และช่วยกำจัดขยะไปพร้อมกัน หลังจากศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
พระอาจารย์พบว่า ขยะพลาสติกสามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ จึงตัดสินใจทดลองด้วยตัวเอง โดยใช้หลักการไพโรไลซิส (Pyrolysis) หรือการเผาขยะพลาสติกในระบบปิดเพื่อให้ได้ไอระเหย ก่อนจะควบแน่นกลายเป็นน้ำมัน การทดลองครั้งแรกพบว่า พลาสติก 1 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันได้มากถึง 1.3 ลิตร ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากน้ำมันที่ได้มีน้ำหนักเบากว่าวัตถุดิบดั้งเดิม การใช้งานจริงก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี น้ำมันที่ผลิตได้สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ของวัด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเคื่องยนต์แต่อย่างใด
“เราไม่ได้มีเครื่องมือไฮเทค หรือทีมวิศวกร ทุกอย่างเกิดจากการลองผิดลองถูกของเราเอง” ขยะที่เคยไร้ค่า กลายเป็นพลังงานที่มีประโยชน์ นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว กระบวนการนี้ยังช่วยกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ย่อยสลายยาก ขยะพลาสติกสามารถคงอยู่ในธรรมชาติได้นับร้อยปี แต่การนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ใครอยากศึกษา เรายินดีให้ความรู้ มาดูของจริงที่วัดได้ เพราะเราทำเพื่อแก้ปัญหาขยะและลดภาระค่าใช้จ่าย ไม่ได้ทำเพื่อการค้า” วัดถ้ำกระบอกกำลังพัฒนาโครงการนี้ต่อไป โดยวางแผนปรับปรุงระบบกรองน้ำมันให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้ได้น้ำมันที่สะอาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น