ภาพ-ข่าว : จันทร์เพ็ญ พิมมะศร สระบุรี
วันที่ 13 มิถุนายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานที่ ลีลาวดี รีสอร์ต สระบุรี ในวันที่ปัญหาสังคมซับซ้อนขึ้นทุกวัน เยาวชนจำนวนไม่น้อยถูกมองว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ที่ต้องถูกควบคุม แต่ที่จังหวัดสระบุรี ความคิดแบบเดิมๆ กำลังถูกท้าทาย ด้วยการลุกขึ้นของกลุ่มคนเล็กๆ ที่เชื่อว่า “เด็กและเยาวชน” คือผู้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่ผู้รับคำสอน แต่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง หากเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา
โครงการ “พลังเด็ก พลังรุ่นใหม่ พลังสังคม” คือบทพิสูจน์ของแนวคิดนั้น โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ กลุ่มไม้ขีดไฟ, กลุ่มปั้นดิน, และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 4 จังหวัดรอบเขาใหญ่ ได้แก่ สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา เพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” และเวทีแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านการลงมือทำโครงการที่เขาคิดเอง ทำเอง และเรียนรู้จากของจริง
นี่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ในงานจัดแสดงผลงานของเยาวชน ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสระบุรี ได้รับเกียรติจาก นางสาวศิริพร โรจนสุกาญจน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้สนับสนุนหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นางสาวสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน หัวหน้าโครงการจากกลุ่มไม้ขีดไฟ เล่าว่า โครงการนี้มีเยาวชนจาก 25 โรงเรียน รวม 29 โครงการ เข้าร่วมกิจกรรม โดยแต่ละโครงการเกิดจากความคิด ความสนใจ และความใฝ่ฝันของเด็กๆ เอง ทั้งในประเด็นสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากกลุ่มปั้นดินและ สสส. ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางความคิด และสนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน “สิ่งที่เราทำไม่ใช่การสอนหรือสั่งให้เด็กทำ แต่เราสร้าง ‘สนาม’ ให้เขาได้ลอง ได้ผิดพลาด ได้แก้ไข และได้เติบโตจริงๆ เด็กบางคนไม่เคยอยู่ในสายตาครู
แต่พอได้มีโอกาสทำสิ่งที่เขารัก เขากลับกลายเป็นแกนนำของโรงเรียน สร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ และเป็นคนที่ครูภาคภูมิใจที่สุด” จากห้องเรียนสู่สนามชีวิต หนึ่งในจุดเด่นของโครงการคือการมี “พี่เลี้ยง” ซึ่งเป็นครูหรือทีมงานชุมชนคอยสนับสนุนเยาวชน ไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการหนุนเสริมเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ ทั้งด้านเทคนิค การประสานงาน หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน “เราไม่ปล่อยให้เด็กลุยโดยลำพัง เพราะมันไม่แฟร์ เด็กต้องมีผู้ใหญ่ที่คอยช่วยในจังหวะที่จำเป็น
เเต่ไม่เข้าไปครอบงำ เราเชื่อในศักยภาพของเด็ก แต่ก็เชื่อว่าเด็กจะเติบโตได้ดี ถ้ามีผู้ใหญ่ที่เข้าใจคอยอยู่ข้างๆ” เยาวชนมดงาน ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ โครงการ “Exercise ขยับร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพ” ของกลุ่มเยาวชน “มดงาน” จากโรงเรียนบ้านครัว (ซีเมนต์ไทยสงเคราะห์) อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่เกิดจากความสนใจจริงของเด็ก โดยมี นายธนชาต เจริญสุข ครูโรงเรียนบ้านครัว (ซิเมนต์ไทยสงเคราะห์) เป็นครูพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งที่คอยให้การสนับสนุน “เด็กบางคนเปลี่ยนจากคนขี้อาย มาเป็นหัวหน้ากิจกรรม เด็กบางคนเปลี่ยนจากไม่อยากมาโรงเรียน กลายเป็นคนที่มาเช้าที่สุด เพื่อเตรียมกิจกรรมให้เพื่อน” เป็นเวทีที่เด็กภูมิใจจะเล่าเรื่องของตัวเอง
การจัดแสดงผลงานครั้งนี้มี นายทรงวุฒิ อัศวพฤกษชาติ ผู้ช่วยผู้จัดโครงการ ทำหน้าที่ประสานงานหลัก ดูแลการจัดเวทีและนิทรรศการจากผลงานของเด็กๆ ให้กลายเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการเล่าเรื่องความสำเร็จ ความผิดพลาด และบทเรียนของพวกเขาอย่างภาคภูมิใจ “เราตั้งใจให้เวทีนี้เป็นของเด็กจริงๆ ไม่ใช่เวทีโชว์ให้ผู้ใหญ่ดู แต่เป็นพื้นที่ที่เด็กภูมิใจจะพูดว่า นี่คือสิ่งที่ฉันทำได้”
นายนิกร ศรีสุพัฒน์ ศึกษาธิการจังหวัดสระบุรี กล่าวแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของโครงการ และยืนยันว่า โครงการลักษณะนี้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนในโลกยุคใหม่ ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป “ผมอยากเชิญชวนให้โรงเรียนที่ยังไม่เข้าร่วม ได้ลองเปิดพื้นที่ให้เด็กแบบนี้บ้าง เพราะสิ่งที่เราเห็นคือ เด็กๆ ทำได้ และทำได้ดีด้วย เพียงแค่เขาได้รับโอกาส”
เด็กไม่ได้ต้องการแค่การสั่งสอน แต่ต้องการ “โอกาส” ท้ายที่สุด หัวหน้าโครงการสรุปว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนแนวทางการทำงานกับเด็กจากการ “วิ่งตามปัญหา” มาเป็นการ “สร้างรากฐาน” ที่มั่นคงให้เด็กได้ค้นพบตัวเองตั้งแต่ต้น “วันนี้เราเจอปัญหาใหม่ทุกวัน ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา เพศไม่พร้อม ความรุนแรงในโรงเรียน ฯลฯ เราจะแก้ทีละเรื่องไปตลอดไม่ได้ แต่ถ้าเด็กค้นพบว่าตัวเองเก่งอะไร ชอบอะไร และอยากเป็นอะไร เขาจะมีเป้าหมาย และปัจจัยเสี่ยงจะไม่มีที่ยืนในชีวิตเขาเลย”
พลังเด็กไม่ใช่เรื่องของอนาคต… แต่คือพลังที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรามองเห็นเด็กว่าเป็นทรัพยากร ไม่ใช่ภาระ เมื่อเรามองการศึกษาเป็นการเติบโต ไม่ใช่แค่การสอบผ่าน
เมื่อเราสร้างโอกาส มากกว่าควบคุม นั่นแหละคือ “พลังสังคม” ที่เริ่มจากพลังของเด็ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น